วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

นักวอลเลย์ สาวไทย 16 ปี บนเส้นทางฝันสู่ "แชมป์โลก"vote   ติดต่อทีมงาน

updated: 23 ก.ย. 2555 เวลา 18:46:19 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



เย็นวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2555 สายตาของคอกีฬาทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะภาคพื้นเอเชียและเมืองไทยได้จับจ้องไปยังสนามวอลเลย์บอลในเมืองอัล มาตี ประเทศคาซัคสถาน สถานที่ชิงชนะเลิศวอลเลย์บอลหญิง เอวีซี คัพ ครั้งที่ 3 ระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติจีน

เกมในวันนั้นเปิดฉากด้วยชัยชนะ เซตแรกอย่างหืดจับของสาวไทย ที่ต้องดวลกันยาวกับคู่ต่อสู้ถึงเซตพอยต์ที่ 6 กว่าจะรู้ผลและปิดฉากลงอย่างงดงามด้วยลูกตบแชมเปี้ยนชิปแมตช์พอยต์ของ "วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์" ปาดหน้าอดีตแชมป์โลก 7 สมัยอย่าง "จีน" คว้าแชมป์ไปครองได้สำเร็จด้วยสกอร์ 3-1 เซต ท่ามกลางเสียงเฮลั่นสนามทะลุจอโทรทัศน์จากกองเชียร์ลูกผสมที่คอยเป็นกำลังใจ สาวไทยมาตลอดการแข่งขัน

แต่ภาพความประทับใจแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับทีมวอลเลย์บอลสาวไทย เพราะก่อนหน้านี้นักตบลูกยางไทยเคย

"เด จาวู" เอาชนะจีนด้วยสกอร์เดียวกันในรอบชิงชนะเลิศวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2009 ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม แถมล่าสุดยังทำผลงานในเวิลด์ กรังปรีซ์ 2012 ที่ประเทศจีนได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการจบที่อันดับ 4 ของการแข่งขัน และนับว่าเป็นอันดับที่ดีที่สุดของเอเชียในปีนี้

ทัพ นักตบลูกยางสาวไทยยังฝากผลงานที่ยอดเยี่ยมเอาไว้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ที่ครองมานานถึง 8 สมัยติดต่อกัน จนสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของภูมิภาคอาเซียนอย่างไม่มีใครสงสัย 2 เหรียญทองแดงจากเวทีเอเซียน คัพ (2001 และ 2007) รวมทั้ง 1 เหรียญเงิน และ 1 ทองแดงจากเอวีซี คัพ ทำให้ในตอนนี้ทีมสาวไทยรั้งอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก และอันดับที่ 4 ของเอเชีย

แม้ผลงานของสาวไทยจะอยู่ในข่ายยอดเยี่ยม สร้างกระแสฟีเวอร์วอลเลย์บอลไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ในสายตาของ "โค้ชอ๊อด-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร" ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย กลับมองว่า ยังเหลืออีกไกลกว่าที่ทีมวอลเลย์บอลสาวไทยจะไปจนถึง

เป้าหมายใหญ่ที่ทางสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย, ทีมโค้ช และนักกีฬาทุกคนตั้งเอาไว้

"ตอนนี้มาถึงเพียงแค่ครึ่งทางเท่านั้น"

อย่าง ไรก็ตาม ชัยชนะย่อย ๆ ระหว่างทางเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยกรุยทางไปสู่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต ตามคอนเซ็ปต์ "Small wins support ambition" ที่โค้ชอ๊อดมักจะพูดย้ำอยู่บ่อยครั้งในการให้สัมภาษณ์กับ "ประชาชาติธุรกิจ"

ก่อนอื่นมาย้อนดูพัฒนาการก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ของทีมชาติไทยที่

ไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ แต่มันคือความพยายามและการวางแผนเป็นระยะเวลากว่า 16 ปี

ใน ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 วงการวอลเลย์บอลหญิงไทยไม่มีใครที่ไม่รู้จัก "ปริม อินทวงศ์" เจ้าของความสูง 170 เซนติเมตร ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น "มือเซตอัจฉริยะ" ของเมืองไทย ด้วยลีลาการเล่นที่เต็มไปด้วยเทคนิคชั้นเชิงอันแพรวพราวประดับในทีมชาติไทย เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับ "พัชรี แสงเมือง"

นักตบสาวสารพัดประโยชน์ที่ สามารถเล่นได้ทุกตำแหน่งในระดับเอบวกบวก และยังเป็นนักกีฬาคนแรกของเมืองไทยที่มีโอกาสได้ไปเล่นลีกต่างประเทศ

น่า เสียดายที่ช่วงเวลาดังกล่าวเข้าสู่ช่วงกลางตอนปลายของอาชีพนักกีฬาของปริ มและพัชรีแล้ว ทำให้ทางสมาคมวอลเลย์บอลฯจำเป็นต้องเร่งมือสร้างทีมและปั้นเด็กขึ้นมาใหม่ เพื่อทดแทนนักตบเลือดเก่าหลายคนที่เตรียมตัวจะปลดระวาง

การปั้นนัก กีฬาเลือดใหม่แบบเอาจริงเอาจังจึงเริ่มตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยมี "โค้ชอ๊อด-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร" อดีตนักวอลเลย์บอลชายทีมชาติไทย มีผลงานการทำทีมเยาวชนเป็นแชมป์ระดับประเทศมาแล้ว เคยสร้างเด็กป้อนทีมชาติชุดใหญ่มาแล้วหลายต่อหลายคน ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด มาเป็นผู้ฝึกสอน

"ผมตัดสินใจทิ้งความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ถามตัวเองแล้วว่าความสุขของเราคืออะไร คำตอบที่ได้คือการเป็นโค้ช เรามีความสุขในการพัฒนาคนให้ก้าวขึ้นมาเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศชาติ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลัง แต่ผมโชคดีที่ท่านเรืออากาศเอกเผด็จ ลิมปิสวัสดิ์ ผู้บริหารวิทยุการบินในตอนนั้นเป็นคนมองการณ์ไกลและรักกีฬา สนับสนุนให้ผมไปเป็นโค้ชอย่างเต็มที่ 4 ปีโดยที่ไม่ต้องกลับมาทำงาน แต่ยังคงตำแหน่งงานเอาไว้อยู่" โค้ชอ๊อดรำลึกความหลังเมื่อสิบกว่าปีก่อน"

ก่อน ลงสนามฝึกซ้อม โค้ชอ๊อดบินไปร่ำเรียนด้านการโค้ชชิ่งต่อที่สเปนและออสเตรีย เพื่อควบแน่นในแง่มุมต่าง ๆ โดยการสนับสนุนจากทางสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ทุ่มงบประมาณปั้นนักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติไทยเริ่มจากเยาวชนอายุ 16-17 ปี ทั่วประเทศมาเก็บตัวพัฒนาฝีมือ และดึงศักยภาพของนักกีฬาออกมาในโครงการ National Team 2001 ที่จังหวัดยะลาเป็นเวลาร่วม 4 ปี

เพียงแค่ปีแรก ทีมนี้สามารถคว้าแชมป์ยุวชนโลกมาครองได้สำเร็จในปี 1997 หลังจากนั้นในปี 2000 นักตบกลุ่มนี้สามารถดันตัวเองขึ้นสู่ชุดทีมชาติชุดใหญ่ได้อย่างสวยงาม พร้อมทั้งทำตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ คว้าเหรียญทองซีเกมส์ 2001 และจบอันดับ 3 ในศึกเอเชียนคัพ 2001 แถมยังสามารถเอาชนะได้แม้กระทั่งทีมชาติญี่ปุ่นที่ไม่มีใครคาดคิดว่านักตบ ไทยจะเอาชนะได้

ดังนั้นเป้าหมายของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยชุด National Team 2001 หรือทีมนักตบลูกยางชุดปัจจุบัน จึงขยายออกไปอีกด้วยความทะเยอทะยานที่นักกีฬาทุกคนและโค้ชพึงมี นั่นก็คือ "ชิงแชมป์โลก"

"เมื่อพัฒนามาได้ถึงขั้นนี้แล้ว เป้าหมายใหม่จึงอยากจะไปชิงแชมป์โลก เราอยากไปเวิลด์ กรังด์ปรีซ์ และตอนนี้เรามาได้ครึ่งทางแล้ว"

ผล จากการปลุกปั้นกว่า 16 ปีของโค้ชอ๊อด ทำให้วันนี้ทีมชาติไทยมีนักกีฬาวอลเลย์บอลตัวฉกาจ ฝีมือไม่เป็นรองใคร แม้สรีระอาจจะยังเป็นรองบ้าง

ไล่ตั้งแต่หัวหน้าทีมวอลเลย์บอล สาวไทยชุดนี้อย่าง "วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์" สุดยอดนักกีฬาผู้มีความมุ่งมั่น มีระเบียบวินัย ที่สำคัญที่สุดคือ "เล่นฉลาด" ทั้งเกมรับและเกมรุก โดยมีทีเด็ดเป็นบอลสูตรระหว่าง "ปลื้มจิตร ถิ่นขาว" ที่มีความสามารถในการเล่นบอลเร็ว แบบว่าถ้าขยับขึ้นหน้าเนตเมื่อไหร่เป็นได้แต้มกลับมาตลอด

คนต่อมาคือ "นุศรา ต้อมคำ" ที่มีฝีไม้ลายมือเทียบเคียงกับมือเซตอัจฉริยะรุ่นพี่อย่างปริม อินทวงศ์ ได้อย่างสูสี ด้วยจังหวะการเซตที่นิ่ง แม่นยำ ไหวพริบดีเยี่ยม

"วรรณา บัวแก้ว" ลิเบอโร่เบอร์หนึ่งตัวเก๋าของทีมชาติไทย ที่แม้ว่าอายุจะขึ้นเลขสามแล้ว แต่ด้วยประสบการณ์กับการยืนตำแหน่งที่ดี ทำให้เป็นเรื่องยากที่ผู้เล่นฝั่งตรงข้ามจะสามารถกินเธอลงอย่างง่าย ๆ อีกคนคือ "อรอุมา สิทธิรักษ์" มือตบ

จอมสังหารเบอร์หนึ่งของทีมชาติไทย ผู้มีพลังการตบ เสิร์ฟลูกที่แม่นยำ รุนแรง และดุดันจนกลายเป็นลายเซ็นประจำตัว

ตาม มาด้วย "มลิกา กันทอง" นักกีฬาผู้ปิดทองหลังพระสารพัดประโยชน์ที่สามารถขยับจับโยกไปยืนได้ทุก ตำแหน่งที่โค้ชอ๊อดสั่ง และ "อัมพร หญ้าผา" ผู้มีจุดขายอยู่ที่การตีบอลที่ไหลลื่น

ปิดท้ายกันที่น้องใหม่ใสกิ๊กของทีมชุดนี้อย่าง "พรพรรณ

เกิดปราชญ์" และ "อัจฉราพร คงยศ" ที่กล้าพูดได้เลยว่า ทั้งคู่คืออนาคตของทีมที่พร้อมจะขึ้นมาเป็นตัวยืนแทนรุ่นพี่

หากต้องการได้แบบเป็นตัวตายตัวแทนกันเลยทีเดียว

ด้วย ฝีไม้ลายมือของนักตบลูกยางไทย เมื่อนำมาประกอบกันเป็นหนึ่งในทีมที่น่าเกรงขามและแข็งแกร่งที่สุด นักกีฬาหลายคนกลายเป็นดาวรุ่งที่ทีมต่างชาติดึงเข้าสังกัดใน

ลีกดัง

โค้ช อ๊อดบอกว่า จากนี้นักตบสาวไทยแต่ละคนจะแยกย้ายกันไปเล่นตามลีกอาชีพที่ตัวเองสังกัดอยู่ เหตุผลที่เราพยายามส่งนักกีฬาไปเล่นในลีกยุโรป เพราะที่นั่นเป็นลีกที่มีมาตรฐานสูง และสามารถพัฒนาฝีมือ รวมทั้งความเป็นมืออาชีพของเด็กเราให้อยู่ในมาตรฐานระดับโลกได้

"ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราได้ส่งนักกีฬาไปเล่นที่ยุโรปเพื่อพัฒนาฝีมือ จนแต่ละคนตอนนี้ลงเล่นได้อย่างไม่อายใครแล้ว"

ความ สำเร็จของทีมนักตบสาวไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารของสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยที่มีวิสัย ทัศน์กว้างไกล บริหารจัดการสมาคมด้วยความโปร่งใส และหาหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมทีมให้มีการพัฒนาตั้งแต่ในระดับยุวชน เยาวชน จนกระทั่งกลายเป็นทีมชุดใหญ่

โค้ชอ๊อดมองว่า ชัยชนะที่เก็บเกี่ยวระหว่างทางจะเป็นในเบิกทางสู่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่ควรมองข้าม และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือหัวใจสำคัญของทุกประเภทกีฬา ทางสมาคมจึงยังคง

ส่งเสริมบุคลากรทางด้านกีฬาวอลเลย์บอลทุกส่วน ด้วยการส่งทีมงานไปเรียนต่อหรือฝึกฝนยังต่างประเทศในหลักสูตร

ขั้นสูงอย่างต่อเนื่อง

โค้ช อ๊อดเพิ่มเติมถึงจิ๊กซอว์สำคัญอีกชิ้นที่ขาดไม่ได้ หลอมรวมให้นักกีฬามีแรงฮึดสู่ชัยชนะก็คือกำลังใจของแฟนวอลเลย์บอลชาวไทยทั้ง ประเทศที่คอยเอาใจช่วยพวกเขาเป็นอย่างดีอยู่เสมอมา

"พี่น้องชาวไทยที่คอยเป็นกำลังใจ

ผลักหลังเราให้ลุกขึ้นสู้ ให้เราเพียรพยายามต่อไป ภายใต้ขีดจำกัดของรูปร่าง"

"รูป ร่าง" จุดอ่อนที่โค้ชอ๊อดกำลังหาทางกำจัด เล่าติดตลกว่า "เราคงต้องไปตามหาสายพันธุ์นักกีฬาชาวไทยที่ตัวสูงมาเข้าทีมให้มาก ๆ เข้าไว้ หากหวังที่จะเป็นแชมป์โลก

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังไม่มี ทีมไหนได้แชมป์โลกทั้ง ๆ ที่ตัวเตี้ย หากเปรียบเทียบแล้ว ตอนนี้เราคงเป็นเหมือนกับอดีตแชมป์โลกอย่างญี่ปุ่นเมื่อ 100 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง"

ดูเหมือนว่าตอนนี้ทางสมาคมวอลเลย์บอลฯและ ทีมงานสตาฟโค้ชได้เริ่มออกตระเวนตามหาตัวนักกีฬายุวชนไทยอายุ 14-15 ปีที่มีสัดส่วนความสูงเป็นอาวุธ และมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาขึ้นไปอีกจนแตะระดับ 190-200 เซนติเมตร มาเข้าแคมป์เก็บตัว สร้างคนใหม่ขึ้นมาทดแทนนักตบทีมชาติรุ่นพี่ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะตรงกับโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล อย่างพอดิบพอดี

และนี่ คือตัวอย่างความสำเร็จของสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ที่เกิดขึ้นจากความทุ่มเทตั้งใจแบบต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งยังไม่เห็นว่าสมาคมกีฬาประเภทใดทำได้ดีขนาดนี้
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น